Uncategorized

วิชาครูกรรมฐาน

me2 me3 me4

เอาจิตตัวเองอยู่ ก็เอาทุกอย่างอยู่

พระพุทธเจ้าย้ำว่า “การฝึกจิตเป็นการดี” เหตุผลเพราะ “จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้” พุทธเจ้าไม่เคยใช้คำว่า “ฝึกสมาธิ” หรือ “ฝึกสติ” แต่ทรงตั้งใจใช้คำว่า “ฝึกจิต” เอาไว้อย่างน้อยสอง ประโยคนี้ การฝึกจิตเป็นการเอาสติมาเป็นเครื่องมือในการฝึก ทำไม? ต้องสติ พระองค์ตอบว่า “สติเป็นเครื่องกั้นกิเลสทั้งหลาย” เพราะเมื่อสติมีกำลัง สติจะรู้เท่าทันแล้วจะทำหน้าที่ในการกั้นมิให้กิเลสทะลายกำแพงเข้ามาทำลาย และเกาะกัดกินจนจิตเน่าเปื่อยด้วยอกุศลทั้งหลาย แล้วเป็นเหตุชักนำและซัดพาไปสร้างสิ่งที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมองแก่ใจตัวเอง และทำลายผู้อื่นในมิติต่างๆ ต่อไป

สิ่งที่จะทำหน้าที่ในการกล่อมเกลาและฝึกจิต จึงไม่ใช่สมาธิ หากแต่เป็นสติ ตัวสมาธิจะทำให้จิตมีกำลังแข็งกล้ามีพลังในการเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ หรือจะเรียกรวมกันว่า “สมาธิจิต” ฉะนั้น สติจึงเป็นเครื่องมือเดียว ที่โยคีจะต้องนำมาเป็นเครื่องมือในการฝึกจิต โดยการกำหนดเพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ต่างๆ ทั้งเป็นกุศลและอกุศลที่จะเข้ามากระทบจิต เมื่อใช้สติควบคู่กับสัมปชัญญะ อันหมายถึงระลึกได้ และรู้ตัวอยู่ตลอด หรือใช้คำสั้นๆ ว่า “ระลึกรู้” ก็จะทำให้เกิดสมาธิ โดยเริ่มจากขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ เมื่อสมาธิแนบแน่นอย่างต่อเนื่อง ผลที่จะเกิดตามมาคือ “ญาณ หรือปัญญา”

เหตุผลของการเอา “สติ” มาฝึก “จิต” เพื่อมุ่งหวังให้โยคีประคองจิตให้อยู่ หรือภาษาทั่วไปว่า “เอาจิตของตัวเองให้อยู่” เมื่อเอาจิตอยู่ จิตก็จะไม่ซัดส่าย เร้าร้อน ทุรนทุราย และหลงไหลได้ปลื้มกับอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่จรเข้ามากระทบ จะเห็นว่า การเอาจิตอยู่นั้น เมื่อจิตไปเจออารมณ์ที่ดี น่าใคร่ พอใจ ก็ต้องเอาไว้ให้อยู่ ไม่ไหลไปตามอารมณ์เหล่านั้น ในขณะที่เจออารมณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์ก็ต้องประคองเอาไว้ให้อยู่ ไม่เผลอใจไปรัก โกรธ เกลียด และลุ่มหลงจนจิตสูญเสียดุลยภาพ

การรักษาดุลยภาพของจิตโดยมีสติเข้าไปทำหน้าที่คอยกำกับ และติดตามดู จึงจะไม่ทำให้จิตสูญเสียการทรงตัว จิตที่มีสติคอยดูแลจึงเป็นจิตที่สัมพันธ์กับอารมณ์ปัจจุบันที่เกิดในแต่ละขณะที่มีความชัดเจนในขณะนั้นๆ ทั้งการเคลื่อนไหว ความรู้สึกทุกข์ สุข หรือเฉยๆ การคิด และธรรมารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกขณะของการดำเนินชีวิต

จิตจึงถือเป็นศูนย์บัญชาการ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “มนุษย์มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ” ใจก็คือสิ่งเดียวกันกับจิต จะทุกข์ก็จิต จะสุขก็จิต จะสำเร็จก็จิต จะล้มเหลวก็จิต ฉะนั้น เมื่อมนุษย์สามารถประคองจิต หรือเอาจิตของตัวเองอยู่ได้ ย่อมสามารถที่จะเอาทุกอย่างอยู่ได้เช่นกัน เพราะอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นกุศล หรืออกุศลนั้น ไม่สามารถที่จะทำอะไรจิตได้ ตราบเท่าที่มนุษย์มีสติสัมปชัญญะ แล้วใช้สติเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองป้องกันจิตจากอารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ฉะนั้น จึงไม่มีอะไรที่จะทำอะไรจิตเราได้ ถ้าเราไม่ขาดสติ จนเป็นเหตุซัดพาให้กิเลสเข้ามาโจมตีอย่างเต็มกำลัง

ในวิถีของโลกยุคดิจิตัลที่มีพลังของความเร็วนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเอาสติมาเติมเต็มเป็นเครื่องมือสร้างเกาะกำบังให้จิต ไม่ว่าดิจิทัลจะเร็วเพียงใด ถึงอย่างไรก็สู้กับความไวของจิตมิได้ เมื่อดิจิทัลเกิดขึ้นมา มนุษย์จึงจำเป็นต้องเอาจิตไปสร้างความหมาย และเสริมพลังให้แก่ดิจิทัลให้กลายเป็น “Digital Mindfuness” หรือ “Mindful Tech” ขึ้นมา ฉะนั้น เมื่อมนุษย์นำเอาสติมาฝึกจิตของตัวเองจนเกิดสมาธิอย่างแข็งกล้าและพัฒนาไปสู่ปัญญาที่แจ้งชัดแล้ว ดิจิทัลจึงไม่สามารถที่จะมีอิทธิพลทำลายล้างจิตของมนุษย์ให้จมปลักและหลงเพลินกับดิจิทัลที่มนุษย์สร้างขึ้นมาได้ ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ยิ่งจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ในวิถีแห่งยุคดิจิทัล และใช้ดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน และเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เป็นสะพานพามนุษย์เข้าถึงความสุขที่แท้จริงต่อไป

บันทึกธรรมจากวิถีแห่งการปฏิบัติ
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
15 กรกฎาคม 2561
—————–
ภาพ: วางงานนอก ไปธรรมงานใน เข้ารับการฝึกอบรมครูสอนวิปัสสนากรรมฐาน ณ บ้านเพชรบำเพ็ญ ปราณบุรี ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยความเมตตาตาของสะยาดอจี ภัททันตะวิโรจนะ,ดร., อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ วัดงุยเตาอูกรรมฐาน ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ในฐานะอาจารย์ใหญ่ผู้สอนวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวสติปัฏฐาน โดยการอุปถัมภ์ของ ดร.แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ และมวลศิษย์

Close