Uncategorized

มหาจุฬาอาศรมคือขุมทรัพย์

PA1

PA2 PA5

บทความเรื่อง ขุมทรัพย์ :

ในการครองชีวิตของชาวโลกนั้น  ผู้ที่จะนับได้ว่าเป็นคนฉลาด  นอกจากต้องสามารถหาทรัพย์มาใช้จ่ายเลี้ยงชีวิตและแสวงหาความสุขสำราญเฉพาะหน้าได้แล้ว  ยังจะต้องมีหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งสำหรับเป็นเครื่องประกันความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตด้วย เพราะความเป็นไปของชีวิตเป็นของไม่แน่นอน บางคราวอาจจะเกิดภัยพิบัติที่ทำให้การแสวงหาทรัพย์สินไม่สำเร็จผล หรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้จ่ายมากกว่าปกติ

ด้วยเหตุนี้  จึงเกิดมีความนิยมมาแต่โบราณ  ให้ทำการออมทรัพย์ที่หาได้ไว้เป็นทุนในภายหน้าส่วนหนึ่งและมีวิธีการเก็บรักษาทรัพย์สินส่วนนี้ไว้เพื่อให้ปลอดภัยเป็นพิเศษ  โดยวิธีการต่างๆ กัน ที่นิยมปฏิบัติกันครั้งโบราณ คือ ฝังไว้ในดิน ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะมีที่หมายรู้เฉพาะตน คนอื่นจะมาลักไปไม่ได้  และไฟไม่ไหม้  ทรัพย์สมบัติที่เก็บรักษาไว้โดยวิธีนี้ เรียกกันว่า ขุมทรัพย์

เมื่อเพ่งถึงวัตถุประสงค์ของขุมทรัพย์ เป็นหลักทรัพย์สำหรับประกันความมั่นคง ปลอดภัยของชีวิตซึ่งสามารถนำออกใช้ได้ในคราวต้องการเช่นนี้ ปราชญ์บางท่านเห็นว่า มีขุมทรัพย์อยู่หลายชนิด ทั้งที่เป็นวัตถุและเป็นนามธรรมบางอย่างเป็นขุมทรัพย์ที่มั่นคง ปลอดภัย และสำเร็จประโยชน์ยิ่งกว่าขุมทรัพย์ไว้ ๔ ประเภท คือ

๑.ขุมทรัพย์ติดที่ ได้แก่ ทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้ และเลือกสวนไร่นาอันเป็นอสังหาริมทรัพย์

๒.ขุมทรัพย์เคลื่อนที่ ได้แก่ ข้าทาสบริวาร ตลอดจนสัตว์เลี้ยงต่างๆ

๓.ขุมทรัพย์คู่กาย ได้แก่ ศิลปวิทยา ความรู้สำหรับหาเลี้ยงชีวิต

๔.ขุมทรัพย์ติดตามตัว ได้แก่ บุญคือคุณธรรมที่อบรมปลูกฝังไว้ในตน

ขุมทรัพย์ประเภทที่ ๑ ซึ่งเป็นของประจำที่นั้น เป็นขุมทรัพย์โดยตรงตามรูปศัพท์ และน่าจะกินความรวมถึงวิธีฝากเงินไว้กับธนาคารในสมัยปัจจุบัน  ด้วยขุมทรัพย์ประเภทนี้ เป็นหลักความปลอดภัยของชีวิต ให้ความอุ่นใจในยามปกติ และสามารถนำออกใช้ได้ในคราวจำเป็น  เช่น มีกิจรีบด่วน  เกิดความเจ็บไข้ เกิดภัยอันตรายคับขันโดยไม่คาดคิดเป็นต้น  จัดว่าเป็นวิธีการรักษา

ทรัพย์อย่างดียิ่งอย่างหนึ่ง  แต่ก็ยังไม่เป็นวิธีการที่ปลอดภัยแท้จริง  โดยเฉพาะขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ในดินอย่างโบราณนั้น  มีทางสูญเสียได้หลายอย่าง  เช่นมีคนแอบรู้มาลักขุดไปเสีย  หรือตนเองลืมที่ฝังไว้  เป็นต้น  และอาจมีเหตุถูกยึดไปได้ที่สำคัญที่สุด คือ ในเมื่อยังมิได้นำออกใช้  ก็ยังไม่สำเร็จประโยชน์แต่อย่างใด

ข้าทาสบริวาร ตลอดจนสัตว์เลี้ยงต่างๆ จัดได้ว่าเป็น ขุมทรัพย์ ประเภทหนึ่ง  เพราะเป็นเหมือนหลักทรัพย์  สามารถนำอออกใช้ประโยชน์ในเมื่อถึงคราวจำเป็นได้เช่นเดียวกัน  แต่ยังไม่เป็นขุมทรัพย์ที่มั่นคงปลอดภัยอย่างแท้จริง เพราะอาจถึงคราวล้มหายตายจากพรากกันไป  หรือเปลี่ยนมือ  เปลี่ยนใจไปเป็นอย่างอื่น

ศิลปวิทยาและความรู้สำหรับหาเลี้ยงชีพนั้น  มองเห็นได้ไม่ยาก  ว่าเป็นขุมทรัพย์  เพราะเป็นเหมือนทรัพย์ต้นทุน  สามารถนำมาใช้ประกอบอาชีพทำการงานหาทรัพย์สมบัติเลี้ยงชีวิตได้  และนับว่าเป็นขุมทรัพย์ที่มั่นคง  ปลอดภัยที่สุดอย่างหนึ่ง  เพราะใครลัก  แย่งชิง  ไปไม่ได้  เป็นของคู่กาย  นำออกใช้ได้  ไม่รู้จักหมด  เป็นบ่อเกิดและทางมาของขุมทรัพย์สองอย่างแรกได้ตลอดไป  แต่ก็ยังไม่สำเร็จประโยชน์สมบูรณ์  เพราะผู้มีวิชาความรู้  แต่หากประพฤติเสียหายไม่เป็นที่ไว้วางใจ  ถูกสังคมประณาม  ไม่มีความยอมรับ  ไม่มีคนใช้  คนจ้าง ความรู้นั้นก็อาจเป็นหมัน  มีเหมือนไม่มี

ถ้าพูดไกลออกไปถึงชีวิตเบื้องหน้า  หลังจากละโลกไป  ขุมทรัพย์ที่หลกล่าวแล้วทั้งสามอย่างเป็นอันหมดความหมาย  ใช้ประโยชน์ต่อไปไม่ได้  ถูกทิ้งไว้เพียงแค่สิ้นลมหายใจ

ส่วนขุมทรัพย์ประเภทสุดท้าย  เป็นขุมทรัพย์ไม่มีรูปร่าง  มองไม่เห็นเป็นของเฉพาะบุคคล  มีลักษณะพิเศษ ช่วยสนับสนุนขุมทรัพย์อย่างอื่นในการแสวงหา รักษา เพิ่มพูน และใช้ให้สำเร็จประโยชน์ยิ่งขึ้น เป็นของที่ใครแย่งชิงไปไม่ได้ ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่ม และติดตามไปให้ผลได้แม้ในชีวิตเบื้องหน้า  ขุมทรัพย์นี้คือบุญ อันได้แก่คุณธรรมที่ได้ประพฤติปลูกฝังไว้ในตนนั้น  เรียกสั้นๆ ว่า บุญนิธิ

พระพุทธเจ้าเคยตรัสเรื่อง ขุมทรัพย์ คือบุญนี้ไว้ ว่าหมายถึงธรรม ๔ อย่างคือ

๑.การให้ การเผื่อแผ่เสียสละ ซึ่งเรียกว่า ทาน

๒.ความประพฤติสุจริต  ที่เรียกว่า ศีล

๓.การบังคับจิตใจ  ควบคุมอารมณ์ของตน  เป็นฝ่ายสมาธิ เรียกว่า สัญญมะ

๔.การฝึกฝนอบรมตนเองให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป  เป็นฝ่ายปัญญา เรียกว่า ทมะ

ขุมทรัพย์ประเภทนี้มีประโยชน์ยิ่งใหญ่  ให้สำเร็จผลทุกอย่างที่ต้องการทั้งทางโลกและทางธรรม ในทางโลกสามารถใช้ บุญนิธิ นี้ แสวงหาศิลปวิทยา และความเป็นใหญ่ มีพวกพ้องบริวาร จนถึงเป็นผู้ปกครองประเทศแว่นแคว้นก็ได้  และถ้าปรารถนาความสุขในชีวิตหน้า บุญนิธิ ก็สามารถอำนวยทิพย์สมบัติตามประสงค์

ในทางธรรม วิชา วิมุติ  ความบริสุทธิ์  ตลอดถึงนิพพาน  ก็สำเร็จได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า บุญนิธินี้ ผู้ใดปรารถนาสาวกบารมี  หรือปัจเจกโพธิ หรือพุทธภูมิ ก็จะต้องประพฤติปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า บุญนิธินี้จึงจะสำเร็จความปรารถนา

เมื่อได้ทราบถึงคุณประโยชน์ของบุญนิธิเช่นนี้ และประสงค์จะฝังบุญนิธิไว้ก็ควรทราบสถานที่สำหรับฝังที่เหมาะด้วย  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงที่ฝังบุญนิธิไว้เป็นตัวอย่าง คือ

๑.ปูชนียวัตถุและปูชนียสถานต่างๆ ซึ่งรวมเรียกว่า เจดีย์

๒.ส่วนรวมที่เรียกว่า สงฆ์

๓.บุคคลที่เหมาะสม ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์

๔.ผู้ที่ไปมาหาสู่ติดต่อเกี่ยงข้อง

๕.มารดาบิดาและญาติพี่น้อง

จะเห็นได้ว่า  บุญนิธิมีหลายชนิด  สถานที่ฝังนิธิ  ก็มีหลายแห่ง ใครๆ ก็ฝังได้  ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์

สำหรับคฤหัสถ์ หากปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา ก็จำเป็นต้องสร้างบุญนิธิ ทั้ง ๔ อย่าง คือ ทาน ศีล สัญญมะ และ ทมะ ให้ครบถ้วน  แต่ที่นิยมปฏิบัติกันมา ถือว่าคฤหัสถ์มีหน้าที่ทำนุบำรุงพระศาสนา  ด้วยการให้ทานบริจาคทรัพย์  บำรุงพระสงฆ์ หรือวัดวาอาราม ทานที่ถือกันว่าได้บุญมากที่สุด คือ การบริจาคให้แก่สงฆ์  ให้เป็นของกลาง เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่เจาะจงบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ได้ตรัสแนะนำให้ถวายทานแก่สงฆ์เพราะเป็นทานที่มีผลมากยิ่ง  ทรงเน้นว่า  เมื่อถวายทานแก่สงฆ์  ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการบูชาพระองค์อีกด้วย

การฝังบุญนิธิไว้ในสงฆ์  เป็นสิ่งมีผลมาก  เพราะทำใจของผู้บริจาคให้ปลอดโปร่ง  บริสุทธิ์  ให้กว้างขวาง  ไม่คับแคบ  สมกับความหมายของทานที่ว่าให้  หรือเสียสละ แท้จริง  และฝ่ายผู้รับ  คือ สงฆ์ย่อมนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กว้างขวาง  เพราะสงฆ์เป็นผู้ธำรงสืบต่อพระศาสนา  สิ่งที่ท่านถวาย  ย่อมเป็นเครื่องอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุ  ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสงฆ์นั้นให้สามารถบำเพ็ญสมณธรรม  และปฏิบัติศาสนกิจ  คือการศึกษาและปฏิบัติธรรมต่อไปได้กล่าวได้ว่า  ผู้บริจาคทานในฐานะเช่นนี้  ย่อมมีส่วนร่วมในการดำรงและสืบต่ออายุพระศาสนา

ในทางโลก  มองเห็นได้ชัดว่า  การที่จะมีคนเกิดขึ้นมามากๆ นั้น  มิใช่ของยากและมิใช่เครื่องหมายที่แท้จริงของความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองเพราะถ้ามีคนเกิดมาก  แต่เป็นคนไม่ดี  ไร้ความสามารถ ก็หาเป็นประโยชน์คุ้นกันไม่  ปัญหาสำคัญของผู้พัฒนาบ้านเมืองจึงอยู่ที่การสร้างคน คือ ทำคนที่เกิดมาแล้วให้เป็นคนที่แท้จริง  ด้วยการให้การศึกษาเป็นต้น  เพื่อให้คนนั้นกลายเป็นคนที่มีค่าใช้ประโยชน์ได้  ในทางธรรมก็เช่นเดียวกัน  ในการดำรงและสืบต่ออายุพระศาสนา  ปัญหามิใช่อยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้มีพระบวชมากๆ  แต่อยู่ที่การสร้างพระ  คือทำอย่างไรจะให้ผู้ที่บวชแล้วนั้นเป็นพระที่แท้จริง เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประพฤติปฏิบัติดี  นั้นก็คือการส่งเสริมให้พระได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรม

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  เป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์  เป็นของกลาง  ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมการศึกษา  การปฏิบัติและเผยแพร่ธรรม  ให้การศึกษาอบรมแก่พระภิกษุสามเณร  จากทุกสำนักไม่จำกัดจัดการฝึกฝนอบรมศีลธรรมแก่เด็กและเยาวชน

การศึกษาก็ดี  การปฏิบัติธรรมก็ดี  ที่จัดอบรมเป็นกิจการเป็นหลักฐานต้องอาศัยมีสถานที่ดำเนินงานจำเพาะ  จึงจะเจริญมั่นคง  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย    ได้ตั้งเจตจำนงไว้ว่า เมื่อมีสถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณรพอสมควรแล้ว  จักแสวงหาสถานที่สักแห่งหนึ่งไว้เพื่อจัดสร้างเป็นสำนักปฏิบัติธรรม  สำหรับให้พระภิกษุสามเณรที่ได้ศึกษาปริยัติแล้ว  มีโอกาสปฏิบัติเป็นทางแห่งปฏิเวธ  หรือความเจริญแห่งภูมิธรรมตามสมควรแก่การปฏิบัติของตนและเพื่อเกื้อกูลแก่สาธุชนคิหิบริษัทผู้มีศรัทธา  จะได้บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาภาวนา  ให้บรรลุปรมัตถประโยชน์ต่อไป  หากทำให้ได้เช่นนี้ย่อมหวังได้ว่า มหาวิทยาลัย  จักบรรลุผลสำเร็จแห่งวัตถุประสงค์ที่เป็นข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง  และจะชื่อว่าได้มีส่วนช่วยเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองของพระศาสนาครบทุกด้าน

บัดนี้  ที่ดินซึ่งแสวงหาเพื่อจัดเป็นสถานที่สร้างสำนักปฏิบัติธรรม  ก็ได้กำหนดตกลงแล้ว  และกิจที่พุทธบริษัทจะได้ร่วมกันสร้างที่ดินนั้น  ให้เป็นพุทธศาสนสถานก็ถึงโอกาสที่จะเริ่มต้นแล้ว

การบริจาคทุนทรัพย์สร้างที่ดินให้เป็นพุทธศาสนสถาน  ชื่อว่าเป็นการสร้างขุมทรัพย์ขึ้นไว้อย่างหนึ่ง  คือ ขุมทรัพย์ขึ้นไว้อย่างหนึ่ง  คือ ขุมทรัพย์ถาวร  ที่เรียกว่า ถาวรนิธิ  ชื่อว่าเป็นการบำเพ็ญสังฆทาน  เพราะเป็นการบริจาคอุทิศแก่สงฆ์  ชื่อว่าเป็นการสร้างบุญนิธิ  เพราะการบริจาคทรัพย์ซื้อที่ดินเป็นการบำเพ็ญบุญกิริยาข้อทานมัยในส่วนที่เรียกว่า วัตถุทาน  นอกจากนั้นยังชื่อว่า ได้มีส่วนร่วมสร้างพระด้วย  การช่วยให้การศึกษาและสนับสนุนการปฏิบัติธรรม  เป็นอันได้ชื่อว่ามีส่วนร่วมในการดำรงและสืบอายุพระศาสนาด้วย

อนึ่ง  ขุมทรัพย์คือถาวรนิธิในส่วนที่ดินนี้  เป็นของมั่นคงยืนนาน  แม้จะใช้เท่าใดก็ไม่เป็นเหตุให้สิ้นเปลืองลดน้อยลงได้  เพราะเป็นส่วนของโลกอันเป็นที่ตั้งที่อาศัย  คนทั้งหลายหมุนเวียนกันมาใช้ได้เรื่อยไปไม่รู้จักหมดสิ้น  ผู้ที่บริจาคทุนร่วมไว้ในถาวรนิธิ  แม้บริจาคครั้งเดียว  แต่เมื่อมีผู้มาอาศัยสถานที่นั้นปฏิบัติธรรมครั้งใด  ก็ชื่อว่าเป็นผู้ทำบุญอีกทุกครั้งไป  และผู้ที่ได้มาบำเพ็ญปรมัตถปฏิปทาในถานสถานที่นี้  จะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตารม  อาจบรรลุผลแห่งการปฏิบัติ  ตั้งแต่ภูมิธรรมเบื้องต้น  จนถึงอริยมรรค  อริยผล  และนิพพาน  กลายเป็นขุมทรัพย์ใหญ่ที่ผู้อื่นจะได้พึ่งพาอาศัยให้การศึกษาอบรมต่อไปอีก ชื่อว่าเป็นการสร้างขุมทรัพย์  ขุมบุญ  ที่ใช้และสร้างกันไปไม่รู้จบสิ้น.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  (ป.อ.ปยุตฺโต)

ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวรมุนี  เป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๗

 

Close