กิจกรรมข่าวประชาสัมพันธ์
งานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 14
งานพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ ๑๔
ศรีลังกาเมืองพุทธศาสนาของโลก
ศรีลังกาเป็นเกาะที่เต็มไปด้วยผู้คนมีศีลธรรม ศรีลังกาได้รับอิทธิพลคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้นำคำสอนของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม การสัมมนาวิชาการและพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ ๑๔ ภายใต้หัวข้อ ” การสอนพระพุทธศาสนาเพื่อความยุติธรรมในสังคมและสันติภาพอย่างยั่งยืน ” ณ ห้องประชุมวิชาการนานาชาติ เมืองโคลัมโบและเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ ๑๑- ๑๘ เดือนพฤษภาคม พศ.๒๕๖๐ Dr.Wijeyadasa Rajapakshe รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและพุทธศาสนา แห่งประเทศศรีลังกาได้นิมนต์คณะสงฆ์จากประเทศไทยเข้าร่วมงานดังกล่าว เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศศรีลังกาเป็นเจ้าภาพจัดการเฉลิมฉลองวิสาขบูชาโลก เป็นความโชคดีในการเข้าร่วมการเฉลิมฉลองครั้งนี้ เพราะ คำว่า ” ศรีลังกา ( Sri Lanka ) แปลว่า แผ่นดินแห่งความรุ่งโรจน์ ” รุ่งโรจน์รุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา คำว่า ศรีลังกา ตั้งชื่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ ภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ๒๔ ปี คำว่า ศรีลังกา จึงหมายถึง แผ่นดินแห่งความรุ่งโรจน์ อดีตศรีลังกามี ๑๐ ชื่อว่า ” โอชทวี วรทวีป มัณฑทวีป สิงหล ตัมพปัณณิ อีลาม ซีเรนติบ ลังกาทวีป ซีลอน และศรีลังกา ” ศรีลังกาดินแดนแห่งความรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนาอันดับหนึ่งของโลก ด้วยวิถีชีวิต วิถีปฏิบัติ โดยวิถีพุทธ
พลังศรัทธาชาวศรีลังกาที่มีต่อศาสนาพุทธ
เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา รัฐบาลศรีลังกาให้การต้อนรับคณะสงฆ์จากไทยแลนด์เป็นอย่างดีในนามแขกรัฐบาลศรีลังกา ด้วยระยะทางถึง ๒,๓๙๐ กิโลเมตร จากสุวรรณภูมิถึงศรีลังกา ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยเสียงบรรเลงดนตรี การประดับตกแต่งสนามบิน มีพระพุทธเจ้าเป็นสัญลักษณ์ประจำสนามบินโคลัมโบ สมกับเป็นเมืองพระพุทธศาสนาของโลก สื่อมวลชนของศรีลังกาให้ความสำคัญด้วยการลงข่าวงานเฉลิมฉลองวิสาขบูชาโลก หนังสือพิมพ์ลงหน้าหนึ่งทุกฉบับ ชาวศรีลังกาเป็นหัวใจที่มีแต่พระพุทธศาสนาบูชาพระพุทธเจ้าด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาที่มีความเข้มแข็งที่สุดในโลก เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเข้มงวดมาก พอเห็นพระสงฆ์จากนานาชาติทุกนิกายต่างให้ความเคารพด้วยการเพิ่มช่องทางในการตรวจคนเข้าเมือง ด้วยรอยยิ้มตามแบบฉบับของคนศรีลังกา มีคำกล่าวว่า”ที่ใดมีศรัทธา ที่นั่นย่อมไม่มีความสิ้นหวัง : In faith there is no room for despair ” ศรัทธาของชาวศรีลังกาเป็นศรัทธามั่นคง เริ่มต้นจากผู้นำของประเทศเป็นต้นแบบที่ดีงาม ทำให้ศรีลังกามีความมั่นคงทางพระพุทธศาสนาจนถึงทุกวันนี้
ภูมิศาสตร์เกาะมหัศจรรย์
ภูมิศาสตร์ศรีลังกาเป็นเกาะรูปร่างคล้ายลูกแพร ไข่มุก หรือ หยดน้ำมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๒๔ ของโลก มีพื้นที่ ๖๕๖๑๐ ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่าไทยแลนด์ ๘ เท่ามีความยาวจากเหนือจรดใต้ ๔๓๔ กิโลเมตรมีความกว้างจากตะวันออกถึงตะวันตก ๒๒๕ กิโลเมตร มีชายฝั่งทะเลยาว ๑๓๓๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียห่างจากประเทศอินเดีย ๓๕ กิโลเมตรมีช่องแคบพอล์ก (Polk)ขวางกั้นอยู่และมีหมู่เกาะอาดัมส์เรียงตัวเป็นแนวยาวเกือบเชื่อมต่อกัน เรียกกันว่า สะพานอาดัมส์ (Adam Bridge) ลักษณะเป็นแนวหินปะการังน้ำตื้นคล้ายสะพาน
ภูมิอากาศศรีลังกาเป็นแบบประเทศเขตร้อนชื้นอุณภูมิเฉลี่ย ๒๗ องศา เซลเซียสตลอดปี ยอดที่สูงที่สุดชื่อว่า “ ปิดูรูทาละกาลา “ สูง ๒๕๒๔ เมตรมีเทือกเขาสลับซับซ้อนตอนกลางประเทศ ประกอบด้วยไร่ชา และป่าไม้อันงดงาม ซึ่งมีอากาศเย็นตลอดปีเหมือนกับอังกฤษแม่น้ำศรีลังกาที่ยาวที่สุดคือ “ มหาเวลิ” (Mahaweli) ยาว ๔๑๒ กิโลเมตรไหลจากทางตอนใต้ของเกาะ บริเวณที่รอบสูงแคนดี้ลงสู่ทางเหนือ ออกสู่ทะเลที่ตริงโกมาลี ประชากรศรีลังกาแบ่งออกเป็น ๔ เชื้อชาติคือ สิงหล ๗๔ เปอร์เซ็น ทมิฬ ๑๘ เปอร์เซ็น มุสลิม ๗ เปอร์เซ็นภาษาศรีลังกาที่ใช้พูดกันคือ ” สิงหล ทมิฬ และ อังกฤษ ภาษาทางราชการคือสิงหล ” ส่วนภาษากาย การส่ายหน้า หมายถึง ใช่ หรือ ตกลง ศาสนาศรีลังกา พุทธ ๖๙ เปอร์เซ็นต์ฮินดู ๑๕ เปอร์เซ็นต์ คริสต์ ๘ เปอร์เซ็นต์ อิสลาม ๘ เปอร์เซ็นต์
อาหารของชาวศรีลังกา
๑. ฮอปเปอร์ Hoppers อีนเดียจะเรียกว่า “อาโปม” หรือ อัปปา Appa มีรูปร่างหน้าตาคล้ายขนมครกมาก แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า ๓-๔ เท่า ตรงกลางจะเป็นแป้งนุ่มหนา รอบข้างจะกรอบ ในเมืองไทยก็มีขายตามร้านชุมชน ชาวมุสลิมที่มีเชื้อสายบรรพบุรุษมาจากอินเดียทางใต้ ในเมืองไทยก็กินฮอปเปอร์หรืออาโปมคู่กับแกงปลาหรือปลาอินทรีทอดชิ้นโตๆอร่อยดีถึงรสเครื่องเทศ
๒. สตริงฮอปเปอร์ String Hopper อินเดียเรียกว่า “อีเลีย อาโปม” หรืออินเดียอัปปาหน้าตาคล้ายเส้นหมี่หรือก๋วยเตี๋ยวหลอดเส้นเล็กฝอย แต่จะเหนียวกว่าและจับตัวเป็นก้อนมีขนาดใหญ่กว่าขนมถ้วยนิดหน่อยรูปร่างลักษณะคล้ายขนมเรไรเวลากินสตริงฮอปเปอร์จะต้องราดด้วยแกงกะทิผสมขมิ้นเครื่องเทศ กินกับไข่ต้มหนึ่งฟองลอยมากับน้ำแกงสีเหลืองขมิ้นหนึ่งถ้วย
๓. ซัมบาล Sambal หรือ Polsambal เป็นมะพร้าวขูดผสมน้ำมะนาวเล็กน้อย เหยาะเกลือและพริกแห้งลงไปเล็กน้อยแล้วคละเคล้าจนได้รสชาติกลมกล่อม เปรี้ยวนิด เค็มหน่อย
๔. โยเกิร์ต (Yokert) ทำมาจากนมควาย บรรจุในหม้อดินเผาปิดฝาด้วยใบตองบ้าง กระดาษบ้าง แล้วรัดปากหม้อด้วยเชือกใยมะพร้าวมีหลายขนาด เวลารัปประทานมักราดด้วยน้ำผื้ง หรือน้ำหวานจากต้นตาลและมะพร้าว
๕. กีไรซ์ (Ghee Rice) กี แปลว่า เนย เป็นข้าวหุงกับเนย ใส่เครื่องสมุนไพร มีสีเหลืองของเครื่องเทศผสม บางครั้งใส่ลูกเกด ถั่วอัลมอนด์ ผงหญ้าฝรั่น อบเชย กระวาน กานพลู เรีอกอีกอย่างว่า “ข้าวปุเหล่า” หากต้องการใส่เนื้อสัตว์เพิ่มเติมลงไป นิยมใส่ตรงเนื้ออกไก่ไม่ติดหนัง หั่นเป็นรูปเต๋า ประเทศศรีลังกามีลักษณะเด่นของอาหารเพื่อการดำรงชีวิต ถึงแม้จะมีหลากหลายเผ่าพันธุ์แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
ชาวพุทธศรีลังกาเน้นการปฏิบัติบูชา
ศรีลังกาเป็นเมืองพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธทั่วโลกยอมรับว่า เป็นวิถีพุทธ คือนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติอย่างแท้จริง ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจนเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศ และ”วิถีปฏิบัติ” คือ ปฏิบัติจนเข้าไปสู่จิตใจอย่างเป็นรูปธรรม ชาวพุทธศรีลังกา เป็นชาวพุทธโดยสายเลือด จึงมีความรัก ความหวงแหน และความผูกพันในพระพุทธศาสนา
สาเหตุที่ชาวพุทธศรีลังกาหวงแหนพระพุทธศาสนาเพราะเคยถูกเบียดเบียนจากศาสนาอื่น ถูกย่ำยีทำลายหัวใจด้วยการทำลายสิ่งที่เคารพนับถือคือ “พระเขี้ยวแก้ว” เมื่อหลุดพ้นจากอิทธิพลของต่างศาสนาทำให้ชาวพุทธศรีลังการักและหวงแหนพระพุทธศาสนาอย่างมาก วิถีชีวิตชาวพุทธในศรีลังกาเป็นพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ สวดมนต์ สมาทานศีลกันเองทุกวัน ไม่มีการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ชาวพุทธศรีลังกาไม่ติดยึดในเรื่องเครื่องรางของขลัง มีงานใดๆ ก็ตามที่สำคัญทางศาสนา ชาวพุทธศรีลังกาจะไม่เน้นการทำพิธีกรรม จะเน้นการบรรยายธรรม สนทนาธรรม ปาฐกถาธรรม เน้นการปลูกฝังทางสติปัญญามากกว่าพิธีกรรม พ่อแม่จะเป็นแบบอย่างที่ดี คือ รักษาศีลให้ลูกหลานดู กตัญญูให้ลูกหลานเห็น สุขสงบเย็นให้ลูกหลานได้สัมผัส วันพระวันอาทิตย์ พ่อแม่จะพาลูกหลานเข้าวัด สวดมนต์ สมาทานศีล ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ภาวนา การบูชาพระของชาวพุทธศรีลังกา ไม่เน้นการจุดธูปเทียน แต่จะนำดอกไม้ไปวางเรียงหน้าพระพุทธปฏิมาอย่างสวยงาม
ชาวพุทธทุกคนถือว่าเป็นหน้าที่ในการปกป้องพระพุทธศาสนา ใครยืนหันหลังถ่ายรูปกับพระพุทธปฏิมา ชาวพุทธศรีลังกาจะมาไล่ตะเพิดทันที ถือว่าไม่ให้ความเคารพ ทุกคนมีหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ศรีลังกามีความเข้มแข็ง เพราะมีกระบวนการกลั่นกรองคนที่เข้ามาบวชอย่างเป็นระบบ คนที่จะบวชต้องมาอยู่วัดดูนิสัยใจคอกันเป็นปีๆ ต้องศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจนเข้าใจ เมื่อเห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมแล้ว จึงจะนำมาบวชกับประธานสงฆ์ของนิกายนั้นๆ ซึ่งแต่ละนิกายก็จะมีสังฆสภา คอยพิจารณากลั่นกรองว่าจะอนุญาตให้ใครได้บวชเมื่อมีปัญหาก็จะตัดสินกันในสังฆสภา พระภิกษุสามเณรมีประมาณ ๓,๐๐๐ รูป มีน้อยแต่มีคุณภาพ พระพุทธศาสนาที่แท้ไม่มีนิกายมีแต่ศิษย์ตถาคต ลูกพระพุทธเจ้า ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแล้ว เป็นลูกพระพุทธเจ้าเหมือนกัน บุคคลใดปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง บุคคลนั้นชื่อว่าปฏิบัติธรรม วิถีชีวิตของผู้คนในศรีลังกาเข้าวัดฟังธรรมกันแบบครอบครัว
พระเจ้าอโศกมหาราชอุปถัมภ์การประกาศศาสนา
ยุทธศาสตร์สำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสมณทูต ณ ศรีลังกา คือ ” วิชายอด จรณะเยี่ยม เปี่ยมด้วยกรุณา ยื่นดวงตาให้กับชาวโลก ” ในราว พ.ศ. ๒๓๖ ณ เกาะตัมพปัณณิทวีป คือ ประเทศศรีลังกาปัจจุบัน พระโมคคลีบุตรติสสเถระ ได้กล่าวว่า ” ในอนาคตพระศาสนา จะพึงตั้งมั่นอยู่ด้วยดีในประเทศไหนหนอแล ? จึงตอบว่า “พระศาสนาจักตั้งมั่นอยู่ด้วยดี ในปัจจันติมชนบททั้งหลาย” จากนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชจึงมอบศาสนกิจให้เป็นภาระของภิกษุเหล่านั้น แล้วส่งไปในรัฐต่างๆ คือ
ส่งพระมัชฌันติเถระไปยัง รัฐกัสมีรคันธาระ ด้วยสั่งว่า ท่านไปยังรัฐนั่นแล้ว จงประดิษฐานพระศาสนาในรัฐนั่น ส่งพระมหาเทวเถระอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วส่งไปยัง มหิสกมณฑล ส่งพระรักขิตเถระไปยัง วนวาสีชนบท ส่งพระโยนกธรรมรักขิตเถระไปยัง อปรันตกชนบท ส่งพระมหาธรรมรักขิตเถระไปยัง มหารัฐชนบท ส่งพระมหารักขิตเถระไปยังโลกเป็นที่อยู่ของ ชาวโยนก ส่งพระมัชฌิมเถระไปยังชนบทอันเป็นส่วนหนึ่งแห่ง หิมวัตประเทศ ส่งพระโสณเถระ พระอุตตรเถระ ไปยังสุวรรณภูมิชนบท n ได้ส่ง “พระมหินทเถระ” ผู้เป็นสัทธิวิหาริกกับพระอิฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระ พระสัมพลเถระ พระภัททสาลเถระ ไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีป โดยรับสั่งว่า “พวกท่านไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปแล้วจงประดิษฐานพระศาสนาในเกาะนั้นเถิด ” เป็นการเลือกพระสงฆ์ในการเผยแผ่ที่เหมาะสม
ศาสนาถูกอ้างเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง
ศรีลังกากว่าจะมาถึงวันนี้ต้องเผชิญกับความรุนแรง ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนที่รุนแรงและโหดร้ายมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของโลกในอดีต หลายคนอาจนึกถึงสงครามระหว่าง “ชาวสิงหลกับชาวทมิฬในศรีลังกา” ซึ่งจบลงเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อศึกษาศรีลังกาใช้ยุทธวิธีในการยุติกระบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ในที่สุด สงครามอันนองเลือดในศรีลังการะหว่างชาวทมิฬในเขตจัฟนา ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือสุดของเกาะซีลอน กับชาวสิงหล พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นหนึ่งในความขัดแย้งภายในที่รุนแรงที่สุดในการเมืองโลกยุคร่วมสมัย จนแทบไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลศรีลังกาจะสามารถยุติปัญหานี้ได้ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ แม้ว่าชาวทมิฬจะนับถือศาสนาฮินดู ขณะที่ชาวสิงหลนับถือศาสนาพุทธแบบเคร่งครัด แต่ความแตกต่างในด้านความเชื่อ ไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของชาวทมิฬเช่นที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ รากเหง้าของปัญหานี้แท้จริงเกิดจากกระบวนการแบ่งแยกแล้วปกครองของอังกฤษ เมื่อศรีลังกาประกาศเอกราชและเริ่มกระบวนการสร้างชาติสมัยใหม่ ความแตกแยกระหว่างชนต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ก็ยิ่งร้าวลึกยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลสั่งรวมกิจการสถานศึกษาเป็นของรัฐ และบังคับใช้หลักสูตรที่มีเนื้อหายกย่องชาวสิงหลและศาสนาพุทธเพียงฝ่ายเดียว ทำให้ชาวทมิฬรู้สึกว่าตนเองถูกกีดกันให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง จนก่อเกิดเป็นขบวนการประกาศเอกราช นำโดยกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลม หรือทมิฬไทเกอร์ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาแบ่งแยกดินแดนในศรีลังกาซับซ้อนอย่างมาก คือการที่รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐทมิฬนาฑู ทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐของชาวทมิฬ สนับสนุนการต่อสู้ของพี่น้องทมิฬในศรีลังกา ขณะที่รัฐบาลกลางอินเดีย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสิงหลของศรีลังกาก็ไม่กล้ายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก เพราะเกรงจะกระทบคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง และสร้างความแตกแยกภายในประเทศ โดยนายราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียผู้เดียวที่กล้าแสดงจุดยืนว่าจะขัดขวางการสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬของรัฐบาลทมิฬนาฑู ก็ต้องพบกับจุดจบที่น่าเศร้า โดยถูกลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพระหว่างการหาเสียง ซึ่งคาดกันว่าเป็นฝีมือของกลุ่มผู้สนับสนุนพยัคฆ์ทมิฬในอินเดีย ท่ามกลางการต่อสู้ที่รุนแรงระหว่างรัฐบาลสิงหลและกบฏพยัคฆ์ทมิฬ มีความพยายามในการเจรจาและทำสนธิสัญญาหยุดยิงหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในปี ๒๕๕๒ นายมหินทา ราชาปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา จึงตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกองกำลังทมิฬจนได้รับชัยชนะ และบีบบังคับให้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬวางอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นการยุติสงครามกลางเมืองอันนองเลือดในศรีลังกาที่ดำเนินมากว่า ๒๕ ปีอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าในปัจจุบันสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนจะรายงานตรงกันว่าปฏิบัติการทางทหารในครั้งนั้น เป็นการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก แต่เป็นอดีตที่เคยเจ็บปวด แต่ศรีลังกาต้องเดินหน้าต่อไปโดยใช้หลักการทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการอยู่ร่วมกันของชาวศรีลังกา
บทบาทของผู้นำกับการส่งเสริมพระพุทธศาสนา
การเฉลิมฉลองวิสาขบูชาโลก ณ ศรีลังกา ภายใต้หัวข้อ ” Buddhist Teachings for Social Justice and Sustainable World Peace ” เป็นหัวข้อที่มีความสำคัญในสังคมปัจจุบันเพื่อเข้าถึงความยุติธรรม ความขัดแย้ง สันติภาพ รวมถึงการสอนพระพุทธศาสนา บรรยากาศมีการต้อนรับผู้นำของศรีลังกาและผู้นำแต่ละประเทศอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการบรรเลงดนตรีตามศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองของศรีลังกา ผู้นำประเทศเดินทางเข้ามาถึงห้องประชุมด้วยท่าทีที่แสดงออกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ประนมมือไหว้พระภิกษุสงฆ์ก่อนการประชุมมีการสมาทานศีล นำโดยสมเด็จพระสังฆราชของศรีลังกา ชาวพุทธทุกท่านร่วมสมานทานศีล ๕ จากนั้นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและพุทธศาสนา กล่าวต้อนรับชาวพุทธทั่วโลก กล่าวถึงหลักการของพระพุทธศาสนา คือ ” การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้สงบ ” ชาวศรีลังกายินดีต้อนรับทุกท่าน มีการแสดงเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าอย่างสวยงาม จากนั้นพระพรหมบัณฑิต กล่าวต้อนรับในฐานะประธานสมาคมพระพุทธศาสนานานาชาติ ผู้นำจากอินเดีย ย้ำชัดเจนเป็นภาษาบาลีว่า ” นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ” ความสงบเท่านั้นจะทำให้เกิดสันติสุขภายโลกใบนี้ พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีสันติสุข เราในฐานะชาวพุทธต้องเข้าถึงความสงบสันติปราศจากความขัดแย้ง พิธีเปิดในช่วงเช้าได้เห็นพลังของผู้นำชาวพุทธ ผู้นำทางการเมือง ให้การสนับสนุนอย่างแท้จริง ศาสนาจะอยู่รอดผู้นำต้องมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน เป็นต้นแบบที่ดีของคนในชาติ ศรีลังกาประสบความสำเร็จในการที่มีผู้นำขับเคลื่อนประเทศศรีลังกาด้วยหลักการทางพระพุทธศาสนาเป็น ” วิถีพุทธ วิถีปฏิบัติ วิถีชีวิต ”
การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้ายบุคคลผู้มีความแตกต่าง
สาส์นจากผู้นำศาสนาแต่ละประเทศในการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ณ ศรีลังกา ระหว่าง๑๒ – ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ โดยเริ่มจากสังฆราชศรีลังกา ไทย แคนนาดา บังคลาเทศ อินโดนีเชีย กัมพูชา เมียนม่าร์ เวียดนาม มองโกเลีย จีน ลาว เป็นต้น สาระสำคัญ คือ ” การไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน การไม่ใช้ความรุนแรง ความสามัคคีนำมาซึ่งพร้อมเพรียงในหมู่ชาวพุทธ วันวิสาขบูชาต้องเป็นวันสันติภาพโลก แต่มนุษย์มักจะมีฐานของโทสะ ทำให้เกิดความขัดแย้ง จึงแผ่ความรักแผ่เมตตาไปถึงทุกสรรพสัตว์ พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับการเบียดเบียนทุกรูปแบบ แม้แต่ต่อตนเอง ก็ไม่เห็นด้วยกับการทรมานตนให้ลำบากที่เรียกว่า “การบำเพ็ญตบะ หรือ อัตตกิลมาถายุโยค” ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในศีล ๕ ถือว่าเป็นจริยธรรมพื้นฐานของชาวพุทธ เรียกว่า “มนุษยธรรม” ธรรมพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ ก็เริ่มต้นด้วยการไม่ฆ่า ไม่เพียงแต่ไม่ฆ่า ยังสอนให้มีเมตตา กรุณา ต่อสรรพสัตว์ โดยให้มองโลกทั้งผองว่าเป็นพี่น้องกัน ในทางการกระทำไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางวาจา ความรุนแรงทางกายทำร้ายกัน ประหัตประหารกัน พระพุทธเจ้านักปฏิรูปสังคมที่ทำให้เกิดการลด ละ เลิก การบูชายัญด้วยชีวิตคนและสัตว์จำนวนมาก ที่เป็นประเพณีอันถือปฏิบัติสืบกันมานานในสังคมอินเดียโบราณ ดังคำสารภาพของกูฏทันตพราหมณ์อยู่ระหว่างการเตรียมบูชายัญครั้งสำคัญ แต่พอได้สนทนากับพระพุทธเจ้า ว่าการบูชายัญโดยไม่ต้องใช้ชีวิต เขาจึงเกิดความสว่างไสวในปัญญา หันมาเป็นผู้เปี่ยมเมตตาและไมตรีต่อสรรพสัตว์พร้อมสารภาพว่า “… ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปล่อยโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ ข้าพเจ้าให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอให้สัตว์เหล่านั้น ได้กินหญ้าเขียวสด จงดื่มน้ำเย็น จงรับลมสดชื่นที กำลังรำเพยให้สบายใจเถิด…”คำสอนว่าด้วยการไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ใช้ความรุนแรง และการมีอหิงสธรรมของพระพุทธศาสนาโดดเด่นชัดเจน จนได้รับการอ้างอิงถึงเสมอในหมู่ผู้ปรารถนาสันติสุข คำสอนที่อ้างบ่อยๆ คือ “เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” ในโอวาทปาฎิโมกข์พระพุทธเจ้าทรงประกาศว่า ” ขันติคือความอดทน อดกลั้น คือ การไม่ใช้ความรุนแรง (อนูปฆาโต) การไม่กล่าวร้าย (อนูปวาโท) การไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น (น ปรูปฆาตี ) นี่คืออัตลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ” ในกรณียเมตตสูตร พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สาวกแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์อย่างถ้วนหน้าไปในสากลโลกจนก่อเกิดเป็นความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน ดังหนึ่งมารดารักลูกน้อยกลอยใจของตน วิสาขบูชาจึงเป็นวันสันติภาพ วันแห่งรัก มีความรักให้คนทั้งโลกแม้จะมีความแตกต่าง ผู้นำสงฆ์แต่ละประเทศจึงย้ำเรื่อง ” สันติภาพ ”
“ความฉ่ำเย็นของพระพุทธศาสนาในศรีลังกา”
งานวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๑๔ ณ ศรีลังกา ได้เห็นมิติของผู้นำอินเดียและศรีลังกาในการขับเคลื่อนศาสนาในการบริหารประเทศ เพราะศาสนาพุทธมีความนุ่มนวลที่จะนำผู้คนให้เกิดสันติสุข เห็นความใจกว้างของทั้งสองประเทศในการใช้พลังศาสนาขับเคลื่อนมิติของศาสนาพุทธในแบบดั้งเดิมในประเทศไทยถือกำเนิดหรือสืบวงศ์มาจากลังกา จึงเป็นที่มาของคำว่า ” ลังกาวงศ์ ” พ่อขุนรามคำแหงได้กราบนิมนต์พระสงฆ์จากศรีลังกาที่พักจำพรรษาที่นครศรีธรรมราชมาเทศน์โปรดชาวสุโขทัย จึงทำให้พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ฝังรากลึกในสังคมไทยโบราณ เวลาผ่านไป สถานการณ์พระพุทธศาสนาในศรีลังกาเผชิญหน้ากับความสงครามและการยึดครองจากลัทธิล่าอาณานิคม จนทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมทรุดอย่างหนัก จนหาพระอุปัชฌาย์ที่จะบวชพระภิกษุไม่ได้จึงทำให้กษัตริย์ศรีลังกาได้ส่งราชทูตมาขออาราธนาพระภิกษุสงฆ์ในยุคสุโขทัย พระเจ้าบรมโกษจึงได้กราบนิมนต์พระอุบาลีและคณะไปทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์บวชสามเณรสรณังกรและคณะสามเณรทั่วลังกา จนเป็นที่มาของวงศ์ใหม่ว่า “อุบาลีวงศ์” หรือ “สยามวงศ์” มาจนถึงปัจจุบัน พระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกาเป็นอำนาจที่ฉ่ำเย็นสามารถเชื่อมพี่น้องลังกาไทยมาเกือบ ๑,๐๐๐ ปี บูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าเห็นข้อเด่นนี้จึงนำพระพุทธศาสนามาสร้างความร่มเย็นเป็นสุขทั้งสองชนชาติทำให้ประเทศไทยดำรงตนเป็นชาติมาได้จนถึงปัจจุบัน ผู้นำจะต้องมี ” จังหวะ เวลา เสนา จักขุมา ธรรมะ ” จึงจะนำพาประเทศชาติอยู่รอดปลอดภัย อย่าใช้พลังอำนาจจนลืมพลังของศาสนา ซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษยชาติ
เมื่อชาวพุทธเจอกันกัลยาณมิตรจึงมีพลัง
รับฟังการนำเสนอวิชาการด้านพระพุทธศาสนาจาก ” นักวิชาการและปฏิบัติการ “ทั่วโลกในมุมมองที่มีความแตกต่างกันในบรรยากาศยิ้มแย้มแจ่มใสด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันที่ชาวพุทธทั่วโลกมารวมกัน เพื่อเดินตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าด้วย “หลักอปริหานิยธรรม คือ หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ” ซึ่งการพูดคุยกันจะทำให้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นการฟังแนวคิดของคนอื่น เพราะพระพุทธศาสนามีการแยกกันตามนิกายต่างๆ แต่ละภูมิภาคประเทศมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน ยิ่งแตกต่างยิ่งต้องเรียนรู้กัน แต่หัวใจสำคัญคือ ” เรามีพระพุทธเจ้า องค์เดียวกัน ” ไม่มีสาเหตุที่ต้องมาขัดแย้งกันเอง สาวกหรือศิษย์ของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงนั้นต้อง ” ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ” ตามแนวปฏิบัติตามบริบทของนิกายตน แต่ยังยึดตามแนวทางของพระพุทธเจ้า สิ่งที่เห็นชัดคือขันติธรรม ในการอยู่ร่วมกัน เพราะเวลาสื่อสารจะต้องใช้ความอดทนต่อการฟังกันและกันชาวพุทธที่สุดยอดนั้นจะสามารถใช้เทคนิคกระบวนการ” How มากกว่า Why ” เพราะ Why คือ ทำไม ทำไมนิกายนี้ปฏิบัติแบบนี้ ทำไมปฏิบัติต่างจากเรา ทำไมเพื่อหาการจับผิด หรือกล่าวโทษ ซึ่งไม่มีการจบสิ้น แต่ How คือ อย่างไร เราชาวพุทธจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในท่ามกลางความแตกต่าง โดยเฉพาะในกลุ่มชาวพุทธด้วยกันเอง มีความเอกภาพกันอย่างไร ? วิสาขบูชานี้จึงเป็นโอกาสสำคัญจะมาสร้างความเข้าใจกัน สิ่งเดียวจะเข้าใจกัน คือ การสื่อสารกัน เพื่อสร้างความเข้าใจในนิกายต่างๆ เพราะในโลกนี้เรามีพุทธหลากหลายนิกาย หรือ แม้แต่ละประเทศนับถือศาสนาพุทธก็ยังมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน เราจึงต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง การมาร่วมงานวิสาขบูชาทำให้เกิด ๔ ประการ คือ ” องค์ความรู้ใหม่ ทักษะปฏิบัติ ทัศนคติที่ถูกต้อง และสร้างพลังเครือข่ายชาวพุทธทั่วโลก ” โดยใช้อปริหานิยธรรม ขันติธรรม เคารพในความแตกต่าง ขอให้ชาวพุทธปฏิบัติตามแนวทางที่สอดรับกับวัฒนธรรมและบริบทสังคมของตนเอง ตามแนวทางของอริยมรรคของพระพุทธเจ้า คือ “ทางสายกลาง” ไม่สุดโต่งจนเกินไป
การสื่อสารเพื่อสันติสุขของชาวโลก
การมารวมพลังของชาวพุทธทั่วโลก ณ ประเทศศรีลังกา สื่อของศรีลังกาได้นำเสนอข่าวไปทั่วโลก ประกาศความเป็นเมืองพระพุทธศาสนาให้ชาวโลกรับรู้ หนังสือพิมพ์ลงข่าวหน้าหนึ่งทุกฉบับ เพื่อเผยแพร่งานสำคัญของโลก บทบาทของสื่อในศรีลังกาจึงเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง การสื่อสารจึงเป็นปัจจัยสำคัญมากในโลกปัจจุบัน ซึ่งพระพุทธเจ้ามีความชัดเจนเรื่องการสื่อสารแนวพุทธ การสื่อสารจะต้องประกอบด้วย ๖ ประการ คือ ” จริง ไพเราะ เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ ประกอบด้วยเมตตา ” ถือว่าสื่อของศรีลังกามีความชัดเจนในเรื่องของการสื่อสารข่าวสารต่างๆ พระพุทธเจ้าทรงย้ำว่า การสื่อสารจะต้องเป็น ” สัมมาวาจา วจีสุจริต ปิยวาจา วจีสามัคคี ” จึงขอชื่นชมสื่อของศรีลังกาในการสื่อสารสิ่งดีงามสู่สังคมโลก
เอื็อเฟื้อภาพและข้อมูลโดย…
พระปราโมทย์ วาทโกวิโท
นิสิตปริญญาเอก มจร
ติดตามชมการปาฐกถาพิเศษได้ที่…
https://www.youtube.com/watch?v=UCJvF7yuwMc